เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการท่องเที่ยวชุมชน ณ ตำบลบึงพะไล อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ ตัวแทนแกนนำชุมชน 5 หมู่บ้าน ท้องที่ ท้องถิ่น คณะทำงานระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเจ้าหน้าที่พอช. จำนวนประมาณ 40 คน
สถานที่ประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นบริเวณซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการก่อสร้างสะพานไม้ “บึงพะไล” คือ ฝั่งบ้านหัวบึง โดยมีท่านพระครูสิริสุตาภิวัฒน์ รองเจ้าคณะอำเภอแก่งสนามนาง ประธานการก่อสร้าง และพระอาจารย์เสาร์ นรินทรโท ผู้อำนวยการก่อสร้างเข้ามาร่วมฟังและเทศนาธรรมให้กำลังใจแก่ญาติโยมผู้เข้าร่วม
ช่วงเช้ากำนันเชิด สิงห์คำป้อง ประธานการท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืน ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ การพัฒนาพื้นที่รูปธรรมชุมชนตำบลปลาบ่า จังหวัดเลย จากนั้นนายอนุพงษ์ จรดรัมย์ รักษาการหัวหน้างานปฏิบัติการชุมชน ได้ชวนชาวบ้านร่วมกันค้นหาอัตลักษณ์ของดีในชุมชน เส้นทางท่องเที่ยว กิจกรรมที่อยากดำเนินการ ทั้งนี้กำนันเชิด เน้นย้ำว่า “การท่องเที่ยวโดยชุมชนต้องเกิดจากความต้องการของชาวบ้าน และเมื่อได้ข้อสรุปเป้าหมายตรงกันของชุมชนต้อง ททท ทำทันที”
ท่านพระครูสิริสุตาภิวัฒน์ ได้เล่าให้ฟังถึงที่มาของการสร้างสะพานบึงพะไล เริ่มแรก มีโครงการลอกบึง คิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ บ้านวัดโรงเรียนมาร่วมกัน กำนันกระมล สุจริต เองก็เป็นหลานหลวงพ่อ อาตมาในฐานะเจ้าอาวาสวัดบ้าน พระอาจารย์เสาร์ ในฐานะวัดป่า มีลูกศิษย์หลายคน ต่างคนต่างมีความสามารถอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม มาประชุมวันนี้เพื่อระดมความคิด ชักนำลูกหลาน สมานสามัคคี ทำความดีเพื่อสังคมของเรา
“ทำอะไร เฮ็ดอะไร ต้องไปให้มันสุด” คือ ทำให้เสร็จจุดหมายปลายทาง การสร้างสะพานบึงพะไล หากเปรียบการประพฤติปฏิบัติธรรม “หากไปถึงฝั่งแล้วย่อมเป็นสุข” พระอาจารย์เสาร์ นรินทรโท กล่าว เมื่อถามว่าเริ่มดำเนินการได้อย่างไร ท่านตอบว่า การสร้างสะพานเป็นงานใหญ่ หน่วยงานราชการพูดถึง “จิตอาสา” ควรชวนบุคลากรในชุมชนมาทำประโยชน์เพื่อที่จะทำให้ชุมชนโดดเด่น เป็นหน้าเป็นตาของชาวบึงพะไล ของชาวอำเภอแก่งสนามนาง ให้พี่น้อง ลูกหลานได้สืบทอดเจตนา
ทีมงานมีทั้งพระโยม เริ่มแรกในการคิด คือ กำนันกระมล สุจริตกับอาตมาเพียง 2 คน ไปปรึกษากับคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอเปิดไฟเขียว เราพร้อมเร่งดำเนินการทันที เพราะช่วงนี้น้ำในบึงน้อย พื้นดินแห้งเหมาะกับการสร้างสะพาน สะพานไม้ยาว 446 เมตร ถือว่างานเสร็จเร็วเกินคาดหวัง เริ่มสร้างวันที่ 28-29 มกราคม 2563 ระยะเวลา 3 เดือน ปูพื้นจากฝั่งบ้านหัวบึงไปถึงบ้านพะไล มาทำกุฎิด้านตะวันตก แรงงานมาช่วยกันตามกำลังศรัทธา มาช่วงเช้า หรือช่วงบ่ายก็แล้วแต่เขา จำนวน 30 40 50 คนบ้าง มาคนมาช่วยงานครัว ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทำงานไม่ได้ ก็มานั่งให้กำลังใจ
การสร้างสะพานเริ่มต้นจากเสนอแนวความคิด ในชุมชน ถามญาติโยมว่าอยากได้สะพานไหม หากอยากได้เราต้องช่วยกัน อาตมาขอบิณฑบาต อันดับแรกขอเงินคนละ 100 บาทจากบ้านหัวบึง ให้กำนัน กระมล สุจริต เป็นผู้รวบรวม เพื่อเป็นกองทุนในการสร้างสะพาน จะได้เกิดการรวมกลุ่ม หมู่บ้านของเราจะได้มีความเป็นเจ้าของ เงินทุนนี้หมู่นี้พัฒนาแล้วจะไม่สูญหาย นำมาใช้ทุนสำรองในช่วงขาดแคลนเท่านั้น จะนำมาเป็นกองทุนของชาวบ้านเหมือนเดิม ถือว่าเป็นการพึ่งตนเองก่อนที่จะพึ่งคนอื่น
เมื่อลงมือสร้างสร้างพาน ได้อาศัยผู้นำในชุมชนหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ชิดกัน เดิมมีการพึ่งพาอาศัยกันอยู่แล้ว มีกิจกรรมที่ทำร่วมกันเช่น ปีใหม่มีกีฬา 5 หมู่บ้าน มาทำบุญตักบาตรร่วมกัน หารือกันว่าจะทำงานอย่างไร ผู้ใดจะอยู่แผนกใด การดูแลข้าวปลาอาหารดูแลพี่น้อง ผู้ใดจะไปหาไม้ ญาติโยมหมู่บ้านต่างๆ ในเขตตำบลบึงพะไล มีการประชาสัมพันธ์ทั้ง 15 หมู่บ้าน ว่าตอนนี้เราต้องการสร้างสะพานบึงพะไล พี่น้องมีความต้องการสนใจในการบริจาคต้นไม้ เป็นต้นไม้แห้ง ผู้ใดมีศรัทธาเท่าไหร่จะบริจาคเงินก็ได้ ผู้นำเอารายชื่อมา ท่านกำนันก็ดี คณะกรรมการที่แต่งตั้งไว้ ไปขนเอาไม้ นำไม้ไปแปรรูป ในการสร้างสะพาน
ทีมงานวัด 2 วัดบ้าน วัดป่า ตามประเพณีของชาวบ้านนั้น หากมีพระนำหน้าญาติโยมจะอุ่นใจ เหมือนไปกับพระ ถือว่าปลอดภัยแล้ว พระออกแรง นำพาญาติโยมตัดไม้ เณร ญาติโยม ทุกงานพระต้องไปด้วย เปรียบเหมือนพอมีพระมาเกิดความอบอุ่น มีความสุข
คำว่า “ความสุข” ของคนบึงพะไล หากท่านได้ไปเยือน จะพบเห็นได้จากรอยยิ้ม สีหน้า แววตา ของชาวบ้าน และมีศิลปินนายสวัสดิ์ พืชสิงห์ ได้ถ่ายทอดเป็นคำร้อง/ทำน้อง บทเพลง “บึงพะไล” บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์และงานพัฒนาของชุมชนไว้น่าสนใจ ดังนี้
บึงพะไล ชื่อนี้มีคนสรรค์สร้าง รวมพลัง มุ่งหวังอยู่ดีกินดี บึงพะไล งามล้นผู้คนมากมี หลากหลายของดี มีที่บึงพะไล
สองสี่หกสาม งามล้นมีต้นพะไล หนองบึงกว้างใหญ่ น้ำใสน้ำใจแบ่งให้ บรบือ โนนสูงจูงมือมาไกล แผ่นดินนี้ไซร้ ได้ชื่อว่าบึงพะไล
*** กข.คจ.ไม่รั้งรอต่อเติมกันได้ ออมทรัพย์นั่นไง ขยายผลผู้คนยิ้มได้ สถาบันการเงิน สวัสดิการชุมชนสดใส อีกโรงสีปุ๋ยน้ำมากมาย โคราชพันธุ์ไก่เนื้อบึงพะไล
* วิสาหกิจ ไม่มีลิมิตคิดได้ทำได้ ธนาคารต้นไม้ ทำได้เอาใจใส่ใจ อีกยังมี ไก่ดำภูพานพ่อหลวงให้ไว้ พวกเราเทิดไท้ ภาคภูมิใจที่บึงพะไล
(สร้อย) บ้านหัวบึง บึงพะไล บึงพะไล น้ำใสน้ำใจงดงาม
เขียนโดย สมจิตร จันทร์เพ็ญ